ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก จาก อพท. ,PTT GC ,สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (สททร.), Asian Ecotourism Network( AEN ) และทีมเพจ Goothai เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก ลงพื้นที่ “ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา” จ.ชัยนาท สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Best Responsible Tourism) โดย ททท. ร่วมกับ 40 องค์กร จัดประกวดขึ้นวัตถุประสงค์เพื่อประเมินและคัดเลือกสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวชุมชนในระดับประเทศโดยชุมชนของประเทศไทย ขยายผลสร้างการรับรู้ระดับนานาชาติ ส่งเสริมด้านการตลาด สร้างความเชื่อมั่น และสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้นโยบายของรัฐที่มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ของชาติ ในยามที่ประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในจากการที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด 19
คณะฯ เดินทางจากกรุงเทพไปยังจังหวัดชัยนาท ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ก็มาถึง “ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา” โดยกิจกรรมในการลงพื้น “ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา” จ.ชัยนาท สำหรับวันแรกนั้น คณะฯ เดินทางไปกราบสักการะขอพร รูปเหมือนหลวงปู่เฟื่อง วัดสรรพยาวัฒนาราม พระเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ บริเวณประตูเข้าวัด มีหลวงพ่อพุทธสำเร็จ พระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าวัด และ วิหารน้อย วิหารเก่าแก่ภายในพระวิหารมีพระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ ซึ่งหาชมได้ยากยิ่ง โดยมีรองประธานฟื้นฟูตลาดเก่าสรรพยาให้การต้อนรับ และพระมหาสมศักดิ์ ได้เล่าถึงประวัติของวัดให้ฟังอย่างพอสังเขป
ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จ.ชัยนาท เป็นหนึ่งในชุมชนที่ถูกเสนอชื่อ และผ่านเข้ารอบสุดท้ายใน 25 ชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบทสาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Best Responsible Tourism) เนื่องจากมีความน่าสนใจและโดดเด่นในสาขานี้ เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
ด้านสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ เช่น Street Art สรรพยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต
ส่วนโรงพักเก่าของ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีลักษณะเป็นอาคารโรงพักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ทั้งยังถือว่ามีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลป์ สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 โดยทางราชการได้เตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้คนรุ่นหลัง และนักท่องเที่ยวได้เข้าชมศึกษา โดยอาคารหลังดังกล่าวนั้น ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในชุมชนตลาดสรรพยา
จากนั้นร่วมเรียนรู้กิจกรรม การทำ “ขนมหน้างากุยหลี” สูตรดั้งเดิมจากเมืองแต้จิ๋ว โดยมีคุณป้าละเมียด และครอบครัวได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา และสาธิตการทำขนมหน้างา กุยหลี ให้แก่คณะกรรมการอย่างสนุกสนาน
ชุมชนสรรพยา ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อ คือ ผลิตภัณฑ์ผักตบชวาบ้านอ้อย เป็นงานฝีมือของกลุ่มคนในชุมชนที่มีความสนใจด้านงานจักสาน โดยเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ การนำผักตบชวามาประยุกต์ดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์จักสานที่มีความสวยงาม ทั้งยังส่งออกขายมาแล้วในหลายๆ ประเทศ นับเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมให้กับชาวชุมชน เป็นการระดมความคิด นำภูมิปัญญาทางด้านการผลิต และออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผลิตภัณฑ์และชุมชนอื่นอยู่เสมอ ทั้งนี้ทางกลุ่มยังมีการถ่ายทอดความรู้สู่ท้องถิ่นใกล้เคียงอีกด้วย
กิจกรรมถัดมา เป็นการทำ “ข้าวเกรียบลอยน้ำสูตรโบราณ” หรือ “ข้าวเกรียบอ่อนงาดำ” มีหน้าตาจะคล้ายทองม้วนสด มีรสชาติอร่อย อันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ประยุกต์จากขนมธรรมดาๆ ให้มีรสชาติที่หวานอร่อย และยังมีสีสันฉูดฉาดแปลกตา
และปิดท้ายกิจกรรมของวันแรก ด้วยการเยี่ยมชม “ตลาดกรีนดี” เพื่อศึกษาแนวทางในการเป็นตลาดที่ไม่ใช้ “โฟม” และ “หลอดพลาสติก “ เพื่อการแยกจัดเก็บขยะ ทั้งยังเป็นการรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง
สำหรับกิจกรรมวันที่สอง คณะฯ ได้เดินทางมายัง “ชุมชนวัฒนธรรมทอผ้าพื้นเมืองลาวเวียง” ตั้งอยู่ ที่บ้านเนินขาม ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท เมื่อคณะฯ มาถึง ได้มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อความสิริมงคลให้กับคณะกรรมการก่อนเดินทางกลับ
ด้านการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมของชาวเนินขาม ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น ภาษาถิ่นลาวเวียง การทอผ้าลายดั้งเดิม นั่นคือ ผ้าซิ่นตีนจกอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเนินขาม จากการทอ “ลายช่อมะขาม” “ผ้าขาวม้า 5 สี” เสื้อ ”จกหม้อ” และ “หมอนขวาน” พร้อมกับการทำกิจกรรม workshop ผ้าย้อมคราม
จากนั้น คณะฯ นั่งรถอีแต๊กเดินทางต่อไปยัง “โรงเรียนชาวนา” “โฮมสเตย์กลางทุ่งนา” “บ้าน 5 สาว (โสด)” “บ้านโบราณอายุ 100 ปี” และพบกับการทอผ้าสวยงามอันเป็นศิลปะที่มีความงดงาม การทำสปาเท้า
การเดินมาเที่ยวชุมชน “ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา” จ.ชัยนาท นับเป็นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และมีโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการนำเสนอแนวความคิด ที่ทุกคนคือส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่สามารถปกป้อง ฟื้นฟู รักษาแหล่งท่องเที่ยว และธรรมชาติได้ด้วยการท่องเที่ยวแบบใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม จึงนับเป็นวัฒนธรรมของชุมชนที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาท
ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมการแข่งขันนักการตลาดอาสาเพื่อชุมชนในรอบชิงชนะเลิศนี้ ทีมนักการตลาดทั้งหมด 17 ทีม ในแต่ละสาขาที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องลงพื้นที่ชุมชนตามโจทย์ที่กำหนดให้ เพื่อไปสร้างสรรค์แพ็คเก็จท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ดีที่สุด โชว์ฝีมือทางการตลาด และวางแผนการขายวอร์เชอร์ท่องเที่ยวชุมชน ส่วนทีมนักการตลาดทีมใดที่ขายวอร์เชอร์ได้มากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศไปโดยปริยาย โดยนักการตลาดทุก ๆ ทีม จะมีระยะเวลาในการขายวอร์เชอร์ 30 วัน
สำหรับทีมนักการตลาดที่เข้าแข่งขันลงพื้นที่ในชุมชนตลาดสรรพยา ในครั้งนี้คือ ทีมเพจ Goothai เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่.. Link…https://www.facebook.com/thailandtravel.th/posts/3159360340797282
นอกจากผลจากคะแนนในการลงพื้นที่ชุมชนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ แล้ว ยังมีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน 2 ด้าน ทั้งจากคะแนนพิจารณาของกรรมการ 70% และ คะแนนโหวตจากสื่อมวลชน 30% โดย ททท. จะจัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ในวันที่ 27 กันยายน 2563 ซึ่งตรงกับวันท่องเที่ยวโลก World Tourism Day สำหรับผู้ชนะจากการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะได้รับโล่รางวัลแล้วยังจะได้รับการประชาสัมพันธ์ ต่อยอดขยายผลทางการตลาดและขายอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย รวมทั้งการขายผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ระดับโลก Airbnb เป็นต้น